วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ใช้ 'คอมฯ-สมาร์ทโฟน' นานทำสายตาสั้น

/data/content/26066/cms/e_cdegtuz24567.jpg


 สธ.ชี้สถานการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนท่องเน็ตในคนไทยเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละ 7.2 ชั่วโมง และพบเด็ก เยาวชนสายตาสั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากการเพ่งจอนาน
          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนตุลาคม ทุกปี องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดให้เป็นวันสายตาโลก (World Sight Day) ในปี 2557 นี้ตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาตาบอด ปัญหาสายตาเลือนราง องค์การอนามัยโลกรายงานพบประชากรโลกตาบอดปีละประมาณ 7 ล้านคน สาเหตุร้อยละ 80 สามารถป้องกันได้ ส่วนใหญ่มาจากปัญหาตาต้อกระจก ผู้ที่มีปัญหาความพิการทางสายตา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุ
          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลผลสำรวจจากสำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ล่าสุด ในเดือนกันยายน 2557 ทั่วประเทศมีผู้พิการทางการมองเห็น 171,597 คน โดยโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดที่สำคัญ 5 โรค ได้แก่ โรคต้อกระจก ต้อหิน โรคของจอตา โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก และโรคของกระจกตา จากการสำรวจล่าสุดในช่วงปี 2549-2550 พบว่าประชากรไทยมีความชุกของตาบอดร้อยละ 0.59 และสายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขและป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน จะมีความเสี่ยงเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตาและตาบอดสูงกว่าคนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่เลนซ์ตาเสื่อมตามวัย ซึ่งไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน โดยเน้นการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาความผิดปกติ และกระจายศูนย์เชี่ยวชาญโรคทางตาประจำเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ประชาชนสามารถรับบริการใกล้บ้านที่สุด
          ด้านนายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ปัญหาสายตาที่น่าห่วงขณะนี้ เป็นปัญหาจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ประชาชนใช้สายตาในเรื่องนี้มาก ผลสำรวจล่าสุด คนไทยใช้มือถือประมาณ 41 ล้านคน ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 15 ล้านคน โดยโทรศัพท์ที่นิยมส่วนใหญ่เป็นสมาร์ทโฟน ซึ่งมีสาระการใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างในเครื่องเดียว ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2557 ระบุว่าประชาชนไทยใช้สมาร์ทโฟน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดร้อยละ 77 โดยเฉลี่ยใช้เฉลี่ยวันละ 7.2 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ใช้เฉลี่ยวันละ 4.6 ชั่วโมง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนใช้สายตาเพ่งข้อมูลในสมาร์ทโฟนยาวนานขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดสายตาผิดปกติเพิ่มขึ้น
          จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวต่อว่า สายตาผิดปกติ จะมีทั้งสั้น ยาว และเอียง การเล่นคอมพิวเตอร์ในเด็กวัยประถม คืออายุต่ำกว่า 15 ปี เด็กจะใช้สายตามาก จะทำให้สายตาสั้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งมีทั้งสั้นเทียม หรือสั้นชั่วคราวและสั้นถาวร โดยอัตราการเกิดปัญหาสายตาสั้นขณะนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากที่เคยพบร้อยละ 8 ของจำนวนประชากรที่สายตาสั้น เป็นร้อยละ 30 ซึ่งจะทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียน เด็กจะมองตัวหนังสือบนกระดานไม่ชัด ทำให้จดข้อมูลและเรียนไม่ทันเพื่อน และเกิดปัญหาเด็กเบื่อหน่ายการเรียน ไม่อยากเรียนต่อไป นอกจากนี้จะทำให้เกิดอาการปวดตา ปวดศีรษะโดยไม่รู้สาเหตุ ซึ่งเกิดเนื่องมาจากการเพ่งสายตา และส่งผลต่อการทำงานในบางอาชีพที่ต้องใช้สายตาในอนาคต เช่น นักบิน ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
          นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่อายุเกิน 15 ปี จะไม่มีปัญหาสายตาสั้นเทียม แต่จะเกิดปัญหา เมื่อยล้า แสบตา ตาแห้ง มีอาการปวดศีรษะ หรือทำให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ หากเป็นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยทำงาน ตามปกติสายตาจะเริ่มยาว หากใช้สายตามากกว่าปกติ จะเกิดอาการเมื่อยล้า ปวดตา ตาแดง แสบตามากขึ้น และหากกลับไปบ้านและทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อีก จะทำให้อาการเมื่อยล้ามากขึ้น และเกิดสะสม เวียนศีรษะ สำหรับวัยหลังเกษียณ การเล่นไลน์ หรือคอมพิวเตอร์มาก จะมีอาการแสบตา ตาแห้ง ปวดตา อาการจะเป็นมากกว่าผู้ที่อายุน้อย เนื่องมาจากความเสื่อมการทำงานของอวัยวะที่เกิดตามวัย
          นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อไปว่า การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตอย่างถูกวิธี มีข้อแนะนำดังนี้ 
       1.กรณีเป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านสายตาหรือสายตาผิดปกติอยู่แล้ว ควรเล่นไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง 
       2.ไม่ควรเล่นอุปกรณ์ดังกล่าวในห้องมืดๆ ควรปรับความสว่างหน้าจอให้มีความพอดีกับความสว่างของห้อง แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลังเข้าหาจอ
      3.ให้ปรับความคมชัดของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับ 70-80 เฮิร์ตหรือสูงสุดเท่าที่รู้สึกว่าสบายตา 
      4.การเลือกตัวหนังสือในจอควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาวเพื่อให้เห็นชัดเจน ไม่แนะนำให้ใช้พื้นสีเข้มตัวหนังสือสีขาวหรือสีอ่อน เนื่องจากจะทำให้ต้องใช้สายตาเพ่งตัวหนังสือเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว บางคนต้องหรี่ตาเพื่อลดแสงเข้าตา 
      5.หากเป็นจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ควรใช้แผ่นกรองแสงและดูแลทำความสะอาดหน้าจอไม่ให้มีฝุ่นเกาะ เพื่อให้มองเห็นชัดเจน และควรนั่งเล่นในท่าที่ถูกต้องคือเหมือนนั่งอ่านหนังสือ ระยะห่างของสายตากับแท็บเล็ตหรือมือถือประมาณ 1-2 ฟุต  
       ทั้งนี้ สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อถนอมสายตาคือ ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน เกิน 25-30 นาที และต้องพักสายตาอย่างน้อย 1-5 นาที ควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ดวงตามีความชุ่มชื้น ไม่ต้องพึ่งน้ำตาเทียม และพักผ่อนนอนหลับเป็นเวลา 7 ชั่วโมงเพื่อให้ประสาทตาได้พักการใช้งาน
  
          ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น